ความปลอดภัยในงานปั๊มโลหะ

อันตรายทั่วไปที่พบได้ในงานปั๊มโลหะ

  1. อันตรายจากเสียงดัง หากทำงานต่อเนื่องโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดโรคหูเสื่อมจากการทำงานได้
  2. อันตรายจากการใช้มือป้อนชิ้นงาน เครื่องปั๊มหนีบหรือทับมือ อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากใช้มือเพื่อป้อนชิ้นงานเพื่อปั๊มขึ้นรูป
  3. อันตรายจากคมของโลหะบาด ชิ้นงานส่วนใหญ่เป็นโลหะซึ่งมีขอบคม อาจทำให้บาดมือ หรือแขนในส่วนที่ไม่มีการป้องกันได้
  4. อันตรายจากส่วนที่หมุนของเครื่องจักรที่ไม่มีการ์ดครอบ เส้นผม ชายเสื้อ กางเกง แขนเสื้อที่ลุ่มล่ามของผู้ปฏิบัติงานที่ไม่ได้มัดรวบหรือเก็บให้เหมาะสมอาจเกี่ยวโดนส่วนที่หมุนของเครื่องปั๊มอาจทำให้เกิดอันตรายได้
  5. อันตรายจากการสัมผัสสารเคมีที่เคลือบผิวของโลหะ จะมีการทาน้ำมันที่เพื่อเคลือบกันสนิมของชิ้นงานที่เป็นโลหะไว้ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีโอกาสสัมผัสกับสารเคมี ถ้าไม่มีอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมอาจส่งผลให้เกิดโรคผิวหนังจากการทำงานได้ นอกจากนี้ การสูดหายใจรับสารเคมีอาจส่งผลให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานได้

กฎกระทรวง

กำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย

และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ

พ.ศ. ๒๕๕๒

———————–

ส่วนที่ ๒

เครื่องปั๊มโลหะ

———————–

ข้อ ๑๘ นายจ้างต้องจัดให้มีเครื่องป้องกันอันตรายจากเครื่องจักรอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(๑) ที่ครอบปิดคลุมบริเวณที่อาจเป็นอันตราย

(๒) อุปกรณ์ที่สามารถหยุดเครื่องปั๊มโลหะได้ทันทีเมื่อส่วนของร่างกายเข้าใกล้บริเวณที่อาจเป็นอันตราย

(๓) อุปกรณ์อื่นที่สามารถป้องกันมิให้ส่วนของร่างกายเข้าไปในบริเวณที่อาจเป็นอันตราย

ข้อ ๑๙ ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับเครื่องปั๊มโลหะ นายจ้างต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้

(๑) เครื่องปั๊มโลหะที่ใช้มือป้อนวัสดุ ให้ใช้สวิตช์แบบต้องกดพร้อมกันทั้งสองมือเครื่องจึงทำงาน และสวิตช์ต้องห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบเซนติเมตร

(๒) เครื่องปั๊มโลหะที่ใช้เท้าเหยียบ ให้มีที่พักเท้าโดยมีที่ครอบป้องกันมิให้ลูกจ้างเหยียบโดยไม่ตั้งใจ และต้องดูแลมิให้แผ่นที่ใช้เท้าเหยียบอยู่ในลักษณะที่ลื่นไถลได้

(๓) เครื่องปั๊มโลหะที่ใช้คันโยก ให้ใช้คันโยกที่มีความมั่นคงแข็งแรงและมีสลักบนคันโยกที่สามารถป้องกันมิให้เครื่องทำงานด้วยเหตุบังเอิญได้

(๔) เครื่องปั๊มโลหะที่ใช้น้ำ หนักเหวี่ยง ให้ติดตั้งตุ้มน้ำหนักเหวี่ยงไว้สูงกว่าศีรษะผู้ปฏิบัติงานพอสมควร และต้องไม่มีสายไฟฟ้าอยู่ในรัศมีของน้ำหนักเหวี่ยง

ข้อ ๒๐ ห้ามนายจ้างดัดแปลง แก้ไข หรือปล่อยให้ลูกจ้างเปลี่ยนแปลงสมรรถนะของเครื่องปั๊มโลหะหรือเครื่องป้องกันอันตรายจากเครื่องจักร เว้นแต่ได้รับการรับรองจากวิศวกร และเก็บผลการรับรองไว้ให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบได้

ข้อ ๒๑ นายจ้างต้องติดตั้งเครื่องปั๊มโลหะในพื้นที่ที่มั่นคง แข็งแรง และไม่ก่อให้เกิดการสั่นสะเทือน

KMe : ออกแบบและรับผิดชอบโดยงานประชาสัมพันธ์วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี © 2020 ระบบบริหารจัดการสังคมฐานความรู้วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี