กระท่อม

 “พืชกระท่อม” ชื่อวิทยาศาสตร์ Mitragyna Speciosa Korth เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เช่นเดียวกับกัญชา พืชฝิ่น

     เนื่องจากสารในพืชกระท่อม คือ ไมทราไจนีน มีฤทธิ์กดประสาท ดังนั้น “พืชกระท่อม”ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษ เมื่อเสพโดยการเคี้ยวใบ มีอาการข้างเคียง ได้แก่ ปากแห้ง ปัสสาวะบ่อย เบื่ออาหารท้องผูก นอนไม่หลับ ถ้าเสพระยะเวลายาวนานติดต่อกันมีผลกับสุขภาพ ได้แก่ ท้องผูกรุนแรง เม็ดสีที่ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ ใจสั่น อาจทำให้ชัก และมีผลต่อตับและต่อมไทรอยด์
      หากกินน้ำต้มกระท่อมที่ผสมน้ำอัดลม ยาแก้ไอ ยาจุดกันยุง สารจากหลอดไฟนีออน ที่เรียกว่า 4 คูณ 100 หรือ 8 คูณ 100 อาจทำให้ตายได้ เพราะออกฤทธิ์เสริม ทำให้กดระบบประสาทและระบบหายใจ
      พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 กำหนดการกระทำความผิดและบทลงโทษเกี่ยวกับพืชกระท่อม ดังนี้
      (1) ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 4 หรือในประเภท 5 เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะได้อนุญาต โดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษเป็นราย ๆ ไป ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
      (2)ห้ามมิให้ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 หรือในประเภท 5

    ข้อหาและโทษทางอาญาในความผิดเกี่ยวกับพืชกระท่อม ได้แก่
      (1)ผลิต นำเข้า หรือส่งออก มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 75 วรรค 2)
      (2)จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
          -จำนวนไม่ถึง 10 กิโลกรัม มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 76/1 วรรค 3)
          -จำนวนตั้งแต่ 10กิโลกรัมขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 76/1 วรรค 4)
      (3)ครอบครอง มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 76 วรรค 2)
      (4)เสพ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 92 วรรค 2)

       อย่างไรก็ตาม หากนักวิชาการต้องการวิจัยพืชกระท่อมเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ ก็สามารถกระทำได้ โดยขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้หลักเกณฑ์ในกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 4 หรือในประเภท 5 พ.ศ. 2559 ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้ว แต่การเสพพืชกระท่อม กฎหมายห้ามเด็ดขาดไม่อนุญาตให้เสพได้