- Center of Vocational Manpower Networking Management : CVM
ศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา
(Center of Vocational Manpower Networking Management : CVM)
การเตรียมความพร้อมในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับการแข่งขันในเวทีโลก จำเป็นที่จะต้องมีการวางแผนและพัฒนาทางด้านกำลังคนให้ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ และมีความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคการค้าเสรี ซึ่งแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ได้กำหนดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป้าหมายของประเทศที่มุ่งเน้นการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและขับเคลื่อนกลุ่มคลัสเตอร์และอุตสาหกรรมรายสาขาให้เกิดความเข้มแข็ง รวมทั้งสร้างกรอบการพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมโดยแท้จริง โดยในการวางแผนการพัฒนากำลังคนจำเป็นต้องมีข้อมูลทางด้านประเภทของสถานประกอบการ คุณลักษณะของกำลังคนที่ต้องการ ข้อมูลและความต้องการแรงงานหรือการขาดแคลนแรงงานของสถานประกอบการเพื่อให้สามารถพัฒนากำลังคนได้อย่างสอดคล้องกับความต้องการในสาขาอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยอุตสาหกรรมที่มีความต้องการกำลังคนในระดับมาก ประกอบด้วย 10 ประเภท ได้แก่
1) ยานยนต์สมัยใหม่
2) อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
3) ท่องเที่ยวรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
5) การแปรรูปอาหาร
6) หุ่นยนต์
7) การบินและโลจิสติกส์
8) เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
9) ดิจิทัล
10) การแพทย์ครบวงจร
จากการศึกษาโครงการเตรียมศักยภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม เพื่อรองรับอุตสาหกรรม 4.0 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีความต้องการแรงงานตั้งแต่ปี 2563 – 2567 มีปริมาณจำนวนรวมทั้งสิ้นกว่า 2.24 ล้านคน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น ปี 2563 มีความต้องการแรงงานจำนวน 351,957 ราย และตั้งแต่ช่วงปี 2563-2567 มีความต้องการแรงงาน 1.75 ล้านคน นอกจากนี้ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) หรือ EEC ในอุตสาหกรรมทุกประเภทจำเป็นต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ ทักษะและความสามารถที่เหมาะสมกับประเภทอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรม 10 ประเภท พบว่าใน พ.ศ. 2565 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ต้องการแรงงานมากที่สุด จำนวน 24,596 คน รองลงมา คือ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่และอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ จำนวน 21,897 คน และในปี พ.ศ. 2570 พบว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพต้องการแรงงานมากที่สุดเช่นเดียวกับ พ.ศ.2565 ซึ่งความต้องการในจำนวนสูงขึ้น 59,476 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่และอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ จำนวน 47,732 คน เช่นเดียวกับ พ.ศ.2565
กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดนโยบายการจัดการศึกษาให้มีการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยการปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัย สอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) การจัดการเรียนการสอนด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยและสอดคล้องกับเทคโนโลยีปัจจุบันและเทคโนโลยีดิจิทัล การพัฒนาครูให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ตลอดจนการขับเคลื่อนศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) เพื่อให้สถานศึกษาจัดการอาชีวศึกษาให้สอดคล้องตามบริบทเชิงพื้นที่ และตรงกับความต้องการของประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้จบการศึกษาระดับอาชีวศึกษามีอาชีพและรายได้ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพและคุณภาพชีวิตที่ดีมีส่วนช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นองค์กรหลักในการผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ธุรกิจและบริการ ของประเทศ มีสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ปีการศึกษา 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 913 แห่ง แบ่งเป็นสถานศึกษาของรัฐ จำนวน 429 แห่ง และสถานศึกษาเอกชน จำนวน 484 แห่ง มีผู้เรียนอาชีวศึกษา จำนวนทั้งสิ้น 1,351,113 คน แบ่งเป็นระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ จำนวน 650,997 คน ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง จำนวน 348,462 คน ระดับปริญญาตรี จำนวน 8,700 คน และ หลักสูตรระยะสั้น/หลักสูตร
นอกระบบอื่น จำนวน 342,954 คน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาสถานศึกษาอาชีวศึกษาโดยเน้นการใช้วิทยาลัยเป็นศูนย์กลางในการจัดการศึกษาวิชาชีพที่จะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนร่วมกันพัฒนา โดยมีเป้าหมาย คือ คุณภาพของผู้เรียนอาชีวศึกษาเป็นสำคัญ