โมเดลใหม่ปั้นเด็กสายพันธุ์ EEC ดึง 150 บริษัทจ้างฝึกงานลดหย่อนภาษี

ปั้นเด็กพันธุ์อีอีซีเป้าหมาย 5 ปี 475,668 คน “คณิศ” งัด 2 โมเดลใหม่ดึงเอกชน 150 บริษัทรับฝึกงานพร้อมการันตีรับเข้าทำงานเงินเดือน20,000 บาททันที ได้ลดหย่อนภาษี 250% พร้อมชงของบฯ 120 ล้านบาท อบรมระยะสั้น เป้าหมาย 30,000 คน ไม่หวั่นลงทุนอืด 6 เดือน ปรับแผนดันลงทุน 5G โลจิสติกส์ การแพทย์ก่อน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือเลขาฯ EEC) กล่าวถึงการยกระดับทักษะบุคลากรไทยในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกว่า ได้มีการทบทวนปรับแผนบุคลากรตามแผนระยะเวลา 5 ปี (จากเดิมปี 2562-2566)ต้องชะลอออกไป 6 เดือน (ถึงปี 2567)จากผลกระทบของโควิด แต่อย่างไรก็ตามประมาณความต้องการบุคลากรในพื้นที่ EEC ระยะเวลา 5 ปี (2562-2566) แต่ยังคงเป้าหมายต้องพัฒนาบุคลากรอีก475,668 คน เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของเอกชน (demand driven) ที่จะเข้ามาลงทุน

“การขับเคลื่อนพื้นที่ EEC จะไม่สามารถสำเร็จได้หากขาดบุคลากร เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ในการเตรียมความพร้อมสำหรับทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นใน EEC ดังนั้น จึงกำหนดเป้าหมายในปี 2564 โดยสร้างหลักสูตรร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เพื่อสร้างบุคลากรขึ้นให้ได้ประมาณ 30,000 คน 200 หลักสูตร ภายใต้ 2 โมเดล คือ EEC Model Type A และ EEC Model Type B ซึ่งปี 2563 สามารถพัฒนาบุคลากรได้แล้ว 8,580 คน”

 

 

สำหรับ EEC Model Type A จะเป็นการคัดเลือกสอบสัมภาษณ์นักศึกษา/อาชีวะ ตามจำนวนและสาขาที่ต้องการ และจะร่วมกันกำหนดหลักสูตรการเรียน เพื่อสนับสนุนเงินทุน 100% ในช่วงระยะของการฝึกงานในโรงงานจะมีการจ่ายค่าจ้าง 300 บาท/วัน และเมื่อจบการศึกษาบริษัทเอกชนจะรับเข้าทำงานโดยการันตีรายได้เริ่มต้น 20,000 บาท/เดือน ซึ่งขณะนี้มีบริษัทเอกชนกว่า 150 บริษัทเข้าร่วมโครงการรับบุคลากรที่ผ่านการอบรมจาก EEC แล้ว ซึ่งปี 2563 สามารถพัฒนาบุคลากรได้แล้ว 8,580 คน จำนวน 2,516 คน เป็นระดับอุดมศึกษา 1,731 คน

อาชีวศึกษา 785 คนโดยจะเป็นการร่วมกับมหาวิทยาลัยราชมงคลตะวันออก ในสาขาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อากาศยาน กับทางมหาวิทยาลัยบูรพา สาขาอุตสาหกรรมการแพทย์ รวมถึงกับทางสถาบันอาชีวศึกษา เช่น วิทยาลัยสระแก้ว ในสาขาวิชาบริหารจัดการโลจิสติกส์ ยานยนต์สมัยใหม่ วิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี จ.ระยอง ในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์

ส่วน EEC Model Type B แผนปี 2564 อยู่ระหว่างการยื่นของบประมาณจากภาครัฐ 120 ล้านบาท และมีภาคเอกชนร่วมสนับสนุนอีก 120 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการเพิ่มปริมาณบุคลากรให้ได้ประมาณ 30,000 คน จากปีที่แล้วสามารถสร้างบุคลากรป้อนให้อุตสาหกรรมไปแล้ว 6,064 คน ซึ่งจะเป็นการอบรมระยะสั้น (short courses) สำหรับ5 อุตสาหกรรม ทั้งหุ่นยนต์ ยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะโลจิสติกส์ การบิน รวม 82 หลักสูตร เพื่อผลิตกำลังคนปรับทักษะ (reskill) เพิ่มทักษะ (upskill) ในระยะเร่งด่วน โดยรัฐจะสนับสนุนงบประมาณ 50% เป็นส่วนที่เอกชนสนับสนุนอีก 50%

“ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2561-2562 มีความร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กับกระทรวงแรงงาน โดย EEC สามารถอนุมัติหลักสูตรได้เลย ซึ่งสิ่งที่มีแรงจูงใจให้เอกชนสามารถรับนักศึกษา/อาชีวะที่จบหลักสูตรกับทาง EEC Modelสามารถนำไปหักค่าลดหย่อนภาษีได้250% และเพื่อให้แผนงาน EECขับเคลื่อนได้จึงของบฯบูรณาการปี 2564 ไปประมาณ 20,000 ล้านบาท เป็นในส่วนงบฯของ EEC เองแค่ 300ล้านบาทเท่านั้น”

ส่วนความคืบหน้าการลงทุนในพื้นที่ EEC ล่าสุด ณ เดือน ส.ค. 2563 อนุมัติการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 สนามบินอู่ตะเภา และการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายไปแล้ว 905,480 ล้านบาท หรือ 53% ของเป้าหมาย 1.7 ล้านล้านบาท โดยเอกชนลงทุน 688,340 ล้านบาท (76%) และรัฐบาลร่วมลงทุน 217,140 ล้านบาท (24%)

ส่วนโครงการที่เหลือ คือ ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) และการลงทุนจากอุตสาหกรรมต่าง ๆอีกประมาณ 700,000-800,000 ล้านบาทจะทยอยเกิดขึ้นในปี 2564 ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนด 6 เดือน หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กระทบการลงทุนทั่วโลก

“ที่เราต้องทบทวนนิดหน่อยเพราะโควิด-19 ทำเราช้าไป 6 เดือน เราก็จะเห็นว่าอุตสาหกรรมไหนเกิดขึ้นก่อนอันไหนยังไม่มา อย่าง 5G โลจิสติกส์ อุตสาหกรรมการแพทย์ อาหารเพื่อสุขภาพ ที่จะมาก่อนเราจึงต้องสร้าง 4 อุตสาหกรรมนี้ปั้นคนมาไว้รองรับ ส่วนอุตสาหกรรมการบินและยานยนต์ยังไม่มา ซึ่งก็ล่าช้ายังสามารถรอได้ก็ไม่ต้องเร่งมาก”

ที่มา ::: ประชาชาติธุรกิจ

文章图片

评论


给此文章投票

创建者


Machine

状态 : ผู้ใช้ทั่วไป
เครื่องมือกลและซ่อมบำรุง