โควิด-19 กดกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์นิ่ง

ตลาดรถยนต์โลกซึมลึกลากยาวหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน และอาจถึงจุดอิ่มตัวแล้ว อีกทั้งรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV เริ่มเข้ามาชิงเค้ก และวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการใช้จ่าย ขณะประชาชนเน้นซื้อรถยนต์มือสองที่มีราคาถูกกว่า ส่งผลให้ตลาดรถมือสองคึก โบรกฯ ประเมินหุ้น SAT มั่นคงและเด่นสุดในกลุ่ม

บล.ภัทร ออกบทวิจัยอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ว่า แนวโน้มตลาดรถยนต์ใหม่ของไทยคาดว่าจะหดตัวลึกกว่า 35% ในปีนี้ตามภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบหนักจากสถานการณ์โควิด-19 อีกทั้งแนวโน้มยอดขายรถยนต์ในประเทศในระยะต่อไปอาจไม่กลับมาแตะหลัก 1 ล้านคันต่อปีได้อีก จากภาวะหนี้ครัวเรือนและปัจจัยทางประชากรและกำลังซื้อที่ลดลง อีกทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางหลังโควิด-19 จากความกังวลต่อสุขภาพ และหันไปซื้อรถยนต์มือสองที่มีราคาถูกมากกว่า ซึ่งอาจจะทำให้ตลาดรถมือสองกลับมาคึกคักขึ้นในระยะสั้น

อย่างไรก็ดี ตลาดรถมือสองอาจมีแนวโน้มแผ่วลงอีกครั้งในไตรมาส 4 หลังการพักชำระหนี้สิ้นสุดลง ซึ่งอาจส่งผลให้มีอุปทานรถมือสองล้นตลาดและราคาปรับลดลง โดยอนาคตตลาดรถยนต์และอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยจะเผชิญความท้าทายทั้งจากความต้องการในประเทศที่ชะลอลง และเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ที่จะทยอยเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด

ทั้งนี้ การที่ตลาดรถยนต์ไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญจากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่รุมเร้า และถูกซ้ำเติมด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชากรและความต้องการซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูงอย่างรถยนต์ จากความไม่มั่นใจต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน อีกทั้งยังมีแนวโน้มใหญ่ (Megatrends) ที่อาจกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ต่อเนื่องถึงธุรกิจจัดจำหน่าย (Dealership) ในอนาคต ทั้งในด้านการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีการขับเคลื่อนไปใช้พลังงานไฟฟ้าซึ่งมีประสิทธิภาพดีขึ้นและมีแนวโน้มต้นทุนที่ถูกลง และวิถีชีวิตของคนเมืองที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไป จากทางเลือกในการเดินทางที่เพิ่มขึ้นที่อาจส่งผลให้ความเชื่อที่ว่า “รถคือปัจจัยที่ 5” ลดความสำคัญลง (Mobility as a service) สอดคล้องต่อยอดขายรถยนต์ทั่วโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง

ตลาดรถยนต์โลกถึงจุดอิ่มตัว

ตลาดรถยนต์โลกกำลังหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันและอาจถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ตลาดรถยนต์โลกเริ่มมีสัญญาณหดตัวนับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมาต่อเนื่องถึงปี 2019 โดยเฉพาะในตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีไปยังรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV (Electric Vehicles) ในตลาดหลักอย่างจีนและยุโรป

ขณะที่ในปี 2020 นี้ ตลาดรถยนต์โลกมีแนวโน้มจะหดตัวกว่า 20% จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่จะส่งผลให้กำลังซื้อของประชากรลดลง นับเป็นการหดตัวต่อเนื่อง 3 ปีติดต่อกัน สวนทางกับตลอดศตวรรษที่ผ่านมาที่ตลาดรถยนต์โลกมีแนวโน้มเติบโตมาโดยตลอด เว้นเพียงวิกฤตการณ์สำคัญของโลกบางช่วง ขณะยอดขายรถในตลาดที่เคยเติบโตสูงในระหว่างปี 2007-2017 อย่าง ประเทศจีน อินโดนีเซีย และอินเดีย ต่างกลับมาหดตัวในระหว่างปี 2017-2019 และมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องในปีนี้

จากการที่ยอดขายรถยนต์ที่มีแนวโน้มหดตัว 3 ปีติดต่อกัน บ่งชี้ว่า ตลาดรถยนต์โลกกำลังถึงจุดอิ่มตัว และในอนาคตอาจไม่กลับมาเติบโตได้ดีดังเดิมแม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลงไป จากแนวโน้มใหญ่ทั้งในด้านเทคโนโลยีและพฤติกรรมการใช้รถยนต์ที่เปลี่ยนไป ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไทยที่ปัจจุบันมีการผลิตเป็นอันดับที่ 11 ของโลก ซึ่งมีการจ้างงานกว่า 7.5 แสนคน และพึ่งพาการส่งออกถึงกว่าครึ่งหนึ่งของยอดการผลิตทั้งหมด

ขณะที่ตลาดรถยนต์ไทยได้รับผลกระทบจากทั้งรอบวัฏจักรการเปลี่ยนรถยนต์ที่ได้ผ่านพ้นไปแล้วและจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ตลาดรถยนต์ใหม่จะหดตัว 35% ในปีนี้ โดยพบว่าวัฏจักรการเปลี่ยนรถยนต์ของผู้ใช้รถไทย อยู่ที่ประมาณ 74 เดือน หรือประมาณ 6 ปี และมีแนวโน้มสั้นลงเรื่อยๆ โดยรอบใหญ่ของการซื้อรถยนต์เกิดขึ้นระหว่างปี 2012-2013 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถขนาดต่ำกว่า 1,500 ซีซี และรถกระบะเพื่อใช้สิทธิคืนภาษีสรรพสามิตตามโครงการรถคันแรกของภาครัฐในขณะนั้น ส่งผลให้รอบการเปลี่ยนรถที่เคยใช้สิทธิจากโครงการฯ เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2018 และตลาดรถยนต์ใหม่หรือรถป้ายแดงขยายตัวได้ถึง 20%

สอดคล้องกับมุมมองผลการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2/2563 ของ บมจ.สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี หรือ SAT โดย ณัฐขจร ญาณภิรัต รองกรรมการผู้อำนวยการ สายการเงินบัญชีและเทคโนโลยีสารสนเทศ บมจ.สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี หรือ SATกล่าวว่า จากผลการดำเนินงานของบริษัทในไตรมาสที่ 2/2563 บริษัทมีผลประกอบการขาดทุนสุทธิกว่า 143 ล้านบาท จากงวดไตรมาสที่ 2/2562 ที่มีกำไรสุทธิ 170 ล้านบาท และไตรมาส 1/2563 มีกำไร 193 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าตลาดคาด 29%

โดยผลการดำเนินงานที่พลิกจากกำไรกลายเป็นขาดทุนจำนวนมากนั้น มาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งบริษัทต้องหยุดสายพานการผลิตสินค้า ประกอบกับค่ายรถยนต์มีการหยุดผลิตในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563 ส่งผลให้บริษัทมียอดขายลดลงจากอุตสาหกรรมรถยนต์ที่การผลิตลดลง 70% อีกทั้งการที่เศรษฐกิจโดยรวมได้รับผลกระทบทำให้ชะลอตัวลง ส่งผลให้กำลังซื้อรถยนต์ของประชาชนชะลอตัวลงด้วย

“แนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ประเมินว่าทิศทางธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์น่าจะเติบโตได้ดีกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากรัฐบาลได้ออกมาตรการผ่อนคลาย หรือล็อกดาวน์ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ มากขึ้น ซึ่งทั้งนี้หากไม่มีปัญหาการกลับมาแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นเป็นรอบที่ 2 โดยปัจจุบันบริษัทก็ได้มีการติดตามสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจอยู่อย่างต่อเนื่อง” ณัฐขจร กล่าว

อย่างไรก็ตาม คาดว่าในช่วงไตรมาสที่ 3-4 แนวโน้มของสถานการณ์จะผ่อนคลายลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งจากภาพรวมในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เอง หรือแม้กระทั่งของ SAT เองก็ตาม โดยหลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ลง และเริ่มกลับมาเปิดสายพานการผลิตได้นั้น ทางบริษัทฯ ได้รับคำสั่งซื้อจากโรงงานประกอบรถยนต์แบรนด์ต่างๆ ที่เป็นลูกค้า และยังได้มีคำสั่งซื้ออะไหล่ชิ้นส่วนรถยนต์จากสหรัฐอเมริกา โดยมี Backlog หรือยอดขายที่รอรับรู้รายได้หลังจากได้มีการโอนสินค้าแล้วในปีนี้อีกไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากยอดรายได้ของ SAT ปรับตัวลดลง อยู่ที่ 754 ล้านบาท ลดลง 61% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้ 1,922 ล้านบาท และลดลง 59% เทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาที่มีรายได้ 1,831 ล้านบาท ซึ่งจากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ลดลงส่งผลให้ SAT มีอัตรากำไรขั้นต้นติดลบ 5.4% สำหรับผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก ยังมีกำไรที่ 50 ล้านบาท ลดลง 89% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม จากการที่ ตลาดรถยนต์ใหม่เริ่มแผ่วลงหลังจากนั้น ก่อนถูกซ้ำเติมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้กำลังซื้อของประชากรลดลงจากผลกระทบต่อรายได้และความเสี่ยงจากการถูกเลิกจ้าง เป็นผลให้ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ตลาดรถใหม่หดตัวแล้วถึง 37% โดยตลอดปี 2020 ซึ่งคาดว่ายอดขายรถยนต์ใหม่จะลดลงเหลือเพียง 651,000 คัน คิดเป็นการหดตัวถึง 35% จากยอดขายในปีที่แล้วที่ 1 ล้านคัน

ขณะที่ในระยะ 10 ปีข้างหน้า ตลาดรถยนต์ใหม่ในประเทศอาจไม่กลับมามียอดขายเกิน 1 ล้านคันต่อปีได้ โดยประเมินว่าจะอยู่ในระดับเฉลี่ยที่ 970,000 คันต่อปี และสามารถทะลุระดับ 1 ล้านคัน ซึ่งทำได้ในช่วงปี 2012-2013 และ 2018-2019 ตามลำดับ

นอกจากนี้ ประเมินว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่มีศักยภาพการเติบโตในระดับต่ำลง จำนวนประชากรวัยทำงานที่ลดลง และระดับหนี้ครัวเรือนที่เริ่มตึงตัว จะทำให้ยอดขายรถยนต์ใหม่ในประเทศไม่สามารถฟื้นกลับสู่ระดับ 1 ล้านคันได้อีกตลอดทศวรรษนี้ และหากเปรียบเทียบกับประเทศในแถบเอเชีย และประเทศในกลุ่ม BRIC รวมถึงเม็กซิโก โดยพิจารณาปัจจัยทาง GDP ต่อประชากร รวมถึงแนวโน้มการเติบโตของรายได้ในอนาคต พบว่ายอดขายรถใหม่ต่อปีของไทยในช่วง 10 ปีข้างหน้าอาจอยู่ในระดับเฉลี่ยประมาณ 660,000-870,000 คันเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ข้อมูลจาก Google Trends ยังชี้ให้เห็นว่าตลาดรถมือสองในช่วงคลายล็อกดาวน์กลับมาได้รับความสนใจมากขึ้น โดยการค้นหาข้อมูลรถมือสองยี่ห้อหลักในอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปี ชี้ให้เห็นถึงความต้องการมีรถยนต์เพื่อใช้เป็นพาหนะในการเดินทางที่เพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าจะมีข้อจำกัดในแง่กำลังซื้อที่ทำให้ไม่สามารถซื้อรถใหม่ได้ อีกทั้งความกังวลด้านสุขภาพซึ่งส่งผลให้ประชาชนที่เคยใช้ระบบขนส่งสาธารณะหันมาใช้รถยนต์ส่วนตัวเพิ่มขึ้น สังเกตได้จากสภาพการจราจรในต้นเดือนกรกฎาคมที่กลับมาติดขัดเท่ากับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 และสอดคล้องกับยอดผู้ใช้งานรถไฟฟ้าที่แม้จะฟื้นตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของปีก่อนหน้า ขณะที่การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศโดยรถยนต์จะมีบทบาทแทนที่การเดินทางโดยเครื่องบินหรือการท่องเที่ยวต่างประเทศไปอีกระยะหนึ่ง

โบรกฯ ให้ SAT เด่นสุดในกลุ่ม

บล.ไทยพาณิชย์ หรือ SCBS มองภาพรวมหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ว่า จากเดือน เม.ย. -พ.ค. เป็นเดือนที่เงียบเหงา เพราะผู้ผลิตรถยนต์ปิดโรงงานชั่วคราวเพื่อปฏิบัติตาม มาตรการล็อกดาวน์ แม้ว่าการผลิตรถยนต์มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในระยะสั้น เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์กลับมาเปิดสายการผลิตแล้วหลังเดือน พ.ค. จากรัฐบาลประกาศคลายล็อกดาวน์ แต่ในระยะยาวคาดว่าความต้องการซื้อรถยนต์ซึ่งเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยจะได้รับผลกระทบจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อ่อนแอและภาวะเศรษฐกิจซบเซา ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อแนวโน้มการผลิตรถยนต์

โดย SCBS ยังคงมุมมองเชิงลบต่อกลุ่มยานยนต์การผลิตรถยนต์จะฟื้นตัวในระยะสั้นหลังจากคลายล็อกดาวน์ ยอดผลิตรถยนต์ในประเทศไทยลดลงถึง 84% เทียบกับปีก่อน ในเดือน เม.ย. เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ปิดโรงงานชั่วคราวเพื่อรับมือสถานการณ์ขาดแคลนชิ้นส่วน ภาวะอุปสงค์ชะงักงันทั้งในประเทศและต่างประเทศสืบเนื่องมาจากมาตรการล็อกดาวน์ และเพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานติดเชื้อไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ ในระยะสั้นสถานการณ์ขาดแคลนอุปทานเริ่มคลี่คลายลงหลังจากคลายล็อกดาวน์ และการผลิตรถยนต์มีแนวโน้มฟื้นตัวหลังจากผู้ผลิตรถยนต์กลับมาเปิดสายการผลิตในภายหลังเดือน พ.ค. อย่างไรก็ดี ในระยะยาวจากการที่รถยนต์เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย จึงคาดว่ากลุ่มยานยนต์จะได้รับผลกระทบความต้องการซื้อระดับต่ำ เพราะความเชื่อมั่นผู้บริโภคอ่อนแอและภาวะเศรษฐกิจซบเซา แต่ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาลงจะส่งผลทำให้ความต้องการซื้อรถยนต์ลดลงในระยะยาว โดยพิจารณายอดขายรถยนต์ในประเทศไทยปรับตัวลดลง 65% เทียบกับปีก่อน ในเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงล็อกดาวน์

ขณะเดียวกัน จะเห็นได้ว่าตลาดรถยนต์ภายในประเทศได้เข้าสู่แนวโน้มขาลงไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยยอดขายปรับตัวลดลงจากปีก่อน ตั้งแต่เดือน มิ.ย.2562 ก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะความต้องการซื้อรถยนต์ลดลงสืบเนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่มีสาเหตุมาจากสงครามการค้า และในขณะเดียวกัน สถาบันการเงินก็ใช้มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ที่เข้มงวดมากขึ้นเพราะกังวลเกี่ยวกับคุณภาพเครดิตที่แย่ลง การส่งออกรถยนต์ก็ได้รับผลกระทบเช่นกันเพราะความต้องการซื้อรถยนต์ในต่างประเทศที่ชะลอตัวลงกดดันให้ยอดส่งออกรถยนต์ของประเทศไทยปรับตัวลดลงมาตั้งแต่เดือน ก.ค.2562 และลดลง 70% จากปีก่อน ในเดือน เม.ย.คาดกำไรลดลงในปี 2563 ไม่น่าจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วในลักษณะ V-shape

“เรามีมุมมองเชิงลบต่อกลุ่มยานยนต์ ซึ่งกำลังเผชิญกับภาวะอุตสาหกรรมที่เป็นลบอย่างมากและกำไรที่อ่อนแอในปี 2563 เราคาดว่ายอดผลิตรถยนต์ในประเทศไทยจะลดลง 13% เทียบปีก่อน สู่ 1.76 ล้านคันในปี 2563 ซึ่งจะส่งผลทำให้กำไรของกลุ่มยานยนต์ปรับตัวลดลง 59% ใน 2563 เพราะยอดผลิตรถยนต์ระดับต่ำจะส่งผลกระทบต่อยอดขายและอัตรากำไร กำไรไตรมาสแรกของปี 63 ของกลุ่มยานยนต์ลดลง 9% จากปีก่อน และเราคาดว่ากำไรไตรมาส 2/63 จะอ่อนแออย่างมาก หลังจากผู้ผลิตรถยนต์ปิดโรงงานชั่วคราวในเดือน เม.ย. แม้เราคาดว่ากำไรจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2564 จากฐานต่ำในปี 2563 โดยใช้สมมติฐานว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อยู่ภายใต้การควบคุม แต่เราไม่คิดว่าจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วในลักษณะ V-shap เนื่องจากความต้องการซื้อรถยนต์จะฟื้นตัว เพราะถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจ แนะนำ 'Neutral' สำหรับ SAT และ STANLY (เพราะฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง ถือครองเงินสดสุทธิ) และคงคำแนะนำ 'ขาย' AH และ PCSGH (เพราะกังวลเกี่ยวกับขาดทุนจากธุรกิจในต่างประเทศ)”

ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด มองว่าจากการที่สภาอุตสาหกรรมรายงานตัวเลขยอดผลิตรถยนต์ ในเดือน มิ.ย.2563 ที่ 71,704 คัน ลดลง 59% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิตเพื่อส่งออกที่ลดลง 49% และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลง 67% โดยจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในครึ่งปีแรก มีจำนวนทั้งสิ้น 606,132 คัน ลดลง 43% จากช่วงเดียวกันกับปีก่อน ขณะยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือน มิ.ย.2563 อยู่ที่ 50,549 คัน ลดลง 49% จากปีก่อน

ในส่วนของผลประกอบการของกลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์ในไตรมาส 2/63 จำนวน 3 บริษัทคือ AH - SAT - STANLY มีผลประกอบการขาดทุนที่ 349 ล้านบาท ปรับลดลงเทียบไตรมาส 2/63 และไตรมาส 1/63 ที่มีกำไร 645 ล้านบาท และ 955 ล้านบาท ตามลำดับ เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โดยยอดผลิตรถยนต์ใน ไตรมาส 2/63 ทำได้เพียง 152,453 คัน ลดลง 70% เทียบปีก่อน ถือว่าเป็นไตรมาสที่ตกต่ำสุดในรอบ 10 ปี โดยในไตรมาส 2/62 บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) หรือ AH ขาดทุน 131 ล้านบาท บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SAT ขาดทุน 113 ล้านบาท และบริษัท ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ STANLY ที่มีผลขาดทุน 102 ล้านบาท

ทั้งนี้ แนวโน้มครึ่งปีหลัง อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์มีแนวโน้มดีขึ้นจากครึ่งปีแรก แต่เป็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป หลังรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ และมีการจัดงานมอเตอร์โชว์ โดยปี 2563 คาดยอดผลิตรถยนต์ของประเทศที่ 1.1 ล้านคัน ปรับลดลง 45% เทียบปีก่อน ขณะที่ในส่วนของคาดกำไรปกติของกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ปี 63 ที่ 1,896 ล้านบาท หรือลดลง 48% เทียบปีก่อน โดย SAT ประเมินว่ากำลังการผลิตจะปรับลดลงจากปีก่อนที่ 65% เหลือ 45% ส่งผลให้กำไรปกติปรับลดลง 63% เทียบปีก่อน เหลือ 328 ล้านบาท ขณะที่ STANLY คาดกำลังการผลิตสำหรับโคมไฟและหลอดไฟรถยนต์ จะปรับลดลงจากปีก่อนที่ 80% เหลือ 59% โดยคาดกำไรปกติลดลง 34% เทียบปีก่อน เหลือ 1,316 ล้านบาท และ AH คาดกำไรปกติลดลง 66% เทียบปีก่อนเหลือ 252 ล้านบาท 

อย่างไรก็ดี คาดว่ากำไรจะกลับมาเติบโตในปีหน้าประมาณ 34% บนสมมติฐานโควิด-19 ทั่วโลกคลี่คลาย และยอดผลิตพลิกฟื้นกลับมา 27% เทียบปีก่อน เป็น 1.4 ล้านคัน เนื่องจากมีการปรับไปใช้มูลค่าพื้นฐานในปี 2564 โดยหุ้นที่แนะนำคือ เก็งกำไร SAT (มูลค่าพื้นฐาน 12.50 บาท จากเดิม 10.40 บาท) และปรับคำแนะนำจาก 'ขาย' เป็น 'เก็งกำไร'

สำหรับ AH (มูลค่าพื้นฐาน 10.50 บาท จากเดิม 8.20) อิง P/E-0.5SD ที่ 8x ซึ่ง Valuation ที่ถูกหลังราคาลงสะท้อนข่าวลบไปมากแล้ว โดยอิง P/E บนค่าเฉลี่ย 5ปี ที่ 9.7x นอกจากนี้ ยังได้ปรับคำแนะนำจาก 'ขาย' เป็น 'เก็งกำไร' STANLY (มูลค่าพื้นฐาน 179 บาท จากเดิม 154 บาท) อิง P/E เฉลี่ย 5 ปี ที่ 10.5x

  ที่มา:: ผู้จัดการออนไลน์

文章图片

评论


给此文章投票

创建者


Machine

状态 : ผู้ใช้ทั่วไป
เครื่องมือกลและซ่อมบำรุง