โลจิสติกส์ของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่

โลจิสติกส์ของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่

โลจิสติกส์ของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่

 

การจัดการโลจิสติกส์ ! สำหรับธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่จึงมีความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะไฮเปอร์มาร์เก็ตซึ่งเป็นร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ที่นำเสนอสินค้าที่มีความหลากหลายในราคาประหยัด

การจัดการโลจิสติกส์ มีความหลากหลายทางด้านขอบเขตของกิจกรรมโลจิสติกส์และกลยุทธ์ที่ใช้ในการแข่งขันทางธุรกิจ แตกต่างกันไปตามแต่ละอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโลจิสติกส์ภาคการผลิต (Manufacturing) และ โลจิสติกส์ภาคค้าปลีก (Retailing) ที่มีความแตกต่างในเป้าหมายและรูปแบบของการดำเนินธุรกิจ โดยภาคการผลิตจะเกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดหาและแปรรูปวัตถุดิบ (Raw Materials) ไปเป็นสินค้าสำเร็จรูป (Finished Products) ในขณะที่ภาคค้าปลีกจะมุ่งเน้นเฉพาะการจัดหาสินค้าสำเร็จรูปจากผู้ผลิต และกระจายต่อไปยังร้านสาขาเพื่อจัดจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคต่อไป จะเห็นได้ว่า ทั้งภาคการผลิตและภาคค้าปลีกต่างก็มีความเชื่อมโยงกันโดยตรงและอยู่ภายในโซ่อุปทานเดียวกันของการค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) โดยเฉพาะไฮเปอร์มาร์เก็ต ที่ประกอบด้วย ซัพพลายเออร์วัตถุดิบ ผู้ผลิต ผู้กระจายสินค้า ผู้ค้าปลีก และผู้บริโภค ตามลำดับ

ประสิทธิภาพของการจัดการโลจิสติกส์มีบทบาทสำคัญต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตเป็นอย่างมาก โดยเกี่ยวข้องตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์ การรับวัตถุดิบ การจัดเก็บและการบริหารสต็อกวัตถุดิบ ไปจนถึงการขนถ่ายลำเลียงวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิตจนกลายเป็นสินค้าสำเร็จรูป ดังนั้นโลจิสติกส์การผลิตจึงต้องให้ความสำคัญอย่างมากกับการจัดการโลจิสติกส์ฝั่งขาเข้า (Inbound Logistics/Material Management) ที่เป็นการจัดการกับวัตถุดิบ และโลจิสติกส์การผลิต (Production Logistics) ที่เป็นการจัดการเพื่อให้สามารถดำเนินการตามแผนการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพและมีต้นทุนรวมต่ำที่สุด จึงจะสามารถแข่งขันด้านราคาของผลิตภัณฑ์กับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันได้

ในขณะที่โลจิสติกส์ภาคค้าปลีกจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตเลย เนื่องจากมีลักษณะของธุรกิจเป็นแบบซื้อมาขายไปอย่างเดียว ยกเว้นการมีสินค้า House Brand เป็นของตนเอง ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต ทั้งนี้ โลจิสติกส์ฝั่งขาเข้ายังคงมีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ หากแต่เป็นในรูปแบบของการจัดหาสินค้าสำเร็จรูปจากซัพพลายเออร์ การขนส่งสินค้าเข้าสู่ศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) การขนถ่ายลำเลียงสินค้า การบริหารสินค้าคงคลัง และยังรวมไปถึงการจัดการกับโลจิสติกส์ฝั่งขาออกทั้งหมด (Outbound Logistics/Physical Distribution) เพื่อเชื่อมโยงสินค้าไปยังผู้บริโภค ประกอบด้วย การจัดการคำสั่งซื้อ และการกระจายสินค้าไปยังร้านสาขาหรือผู้บริโภคสุดท้าย ซึ่งต้องจัดการกับความผันผวนของอุปสงค์ลูกค้าที่ปลายน้ำของโซ่อุปทาน ดังนั้นนอกจากการให้ความสำคัญต่อการรักษาต้นทุนในส่วนของโลจิสติกส์ฝั่งขาเข้าไม่ให้สูงจนสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาแล้ว โลจิสติกส์ภาคค้าปลีกยังต้องมุ่งเน้นการตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งด้านความรวดเร็วและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าจนทำให้เกิดการซื้อซ้ำ

กล่าวโดยสรุป การจัดการโลจิสติกส์สำหรับธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่จึงมีความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะไฮเปอร์มาร์เก็ตซึ่งเป็นร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ที่นำเสนอสินค้าที่มีความหลากหลายในราคาประหยัด จึงต้องให้ความสำคัญกับการสร้างประสิทธิภาพทางด้านต้นทุน (Cost Efficiency) ในส่วนของโลจิสติกส์ฝั่งขาเข้า ควบคู่ไปกับการสร้างความรวดเร็วในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า (Market Responsiveness) ในส่วนของโลจิสติกส์ฝั่งขาออก โดยธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตมีขอบเขตของกิจกรรมโลจิสติกส์ครอบคลุมทั้งในส่วนขาเข้าที่เป็นการรวบรวมสินค้าจากซัพพลายเออร์ที่มีอยู่จำนวนมากเข้าสู่ศูนย์กระจายสินค้า และส่วนขาออกที่เป็นการกระจายสินค้าจากศูนย์กระจายสินค้าไปเติมเต็มที่ร้านสาขา โดยมีกิจกรรมการขนส่งสินค้าที่นอกจากจะส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนสินค้าและความรวดเร็วในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าแล้ว ยังถือเป็นกิจกรรมโลจิสติกส์ที่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ ดังนั้นผู้ประกอบการไฮเปอร์มาร์เก็ตซึ่งพึ่งพาเครือข่ายการกระจายสินค้าขนาดใหญ่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง หากคิดจะทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จและยังเป็นธุรกิจแห่งความยั่งยืนในสายตาของผู้บริโภคอีกด้วย

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ติชม


ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

สร้างโดย :


Logistics

สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
การจัดการโลจิสติกส์