วันภาษาไทยแห่งชาติ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปี
วันภาษาไทยแห่งชาติ ตรงกับวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันที่คนไทยควรตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติ อันเป็นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมทางภาษาที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์
ประวัติความเป็นมาของวันภาษาไทยแห่งชาติ
วันภาษาไทยแห่งชาติ มีขึ้นเพื่อระลึกถึงความสำคัญของภาษาไทย ในราวปี พ.ศ.๑๘๒๖ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์ 'ลายสือไทย' ขึ้นเป็นครั้งแรก ดัดแปลงมาจากอักษรมอญและเขมร มีพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ เพื่อใช้แทนความหมายและเสียงต่างๆ ในภาษาไทย ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็น 'อักษรไทย' ที่เราใช้กันในปัจจุบันนั่นเอง
สำหรับวันภาษาไทยแห่งชาติ ประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๒ โดยมีความเป็นมาจากเหตุการณ์เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙) เสด็จพระราชดำเนินไปอภิปรายหัวข้อ 'ปัญหาการใช้คำไทย' ในการประชุมวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๕ พระองค์ท่านทรงแสดงความห่วงใยในภาษาไทย โดยทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า
'เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียงคือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้ สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก'
ต่อมาในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๒ เป็นวันเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ ๙ เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติลงความเห็นให้ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปี เป็น 'วันภาษาไทยแห่งชาติ' และใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ความสำคัญของวันภาษาไทยแห่งชาติ
- เฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙) ที่ทรงห่วงใยในภาษาไทย ได้พระราชทานแนวคิดต่างๆ ในการส่งเสริมการใช้ภาษาไทย
- ปลูกฝังให้คนไทยเห็นความสำคัญของภาษาไทย ซึ่งถือเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของประเทศ อีกทั้งยังเป็นเอกลักษณ์ทางภาษาที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้อยู่คู่ประเทศไทยสืบไป
- ยกระดับมาตรฐานการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับชั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปรับใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง
- เปิดโอกาสให้หน่วยงานทั้งภาครัฐบาลและเอกชน มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมส่งเสริมภาษาประจำชาติ รวมถึงเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ