มาทำควมรู้จักกับ 'โรคฝีดาษลิง' โรคระบาดใหม่ที่ไม่ควรมองข้าม
ทำความรู้จักกับโรคฝีดาษลิง เกิดจากอะไร?
โรคฝีดาษลิง หรือไข้ทรพิษลิง (Monkeypox) เกิดจากไวรัส Othopoxvirus ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกันกับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ พบในสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการรักษาหรือมีวัคซีนป้องกันโดยเฉพาะ แต่สามารถควบคุมการระบาดได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง สามารถช่วยป้องกันได้ 85%
อาการเป็นอย่างไร?
โรคฝีดาษลิง ต่างจากโรคฝีดาษทั่วไป โดยมีอาการที่สังเกตได้ คือ หลังจากที่สัมผัสเชื้อไปแล้วประมาณ 12 วัน ผู้ป่วยอาจมีอาการแสดง ได้แก่
- ระยะก่อนออกผื่น (Invasion Phase)
- เริ่มด้วยมีไข้ ปวดหัว ปวดตัว ปวดหลัง อ่อนเพลีย และต่อมน้ำเหลืองโต
- โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการต่อมน้ำเหลืองโต เป็นอาการที่สังเกตได้ของโรคฝีดาษลิง ซึ่งแตกต่างจากโรคอื่นๆ ที่มีตุ่มน้ำตามมา เช่น โรคอีสุกอีใส (Chickenpox) , โรคหัด (Measles) , โรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ (Smallpox)
- อาจมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ท้องเสีย อาเจียน และอาการทางระบบหายใจ เช่น เจ็บคอ ไอ เหนื่อย ได้อีกด้วย
- ระยะออกผื่น (Skin Eruption Phase)
- หลังจากมีไข้ประมาณ 1-3 วัน จะเริ่มมีอาการแสดงทางผิวหนัง มีลักษณะตุ่มผื่นขึ้น โดยเป็นตุ่มที่มีรูปแบบการเปลี่ยนแปลงตามลำดับ โดยเริ่มจากรอยแดงจุดๆ เป็นตุ่มนูนแดง ตุ่มน้ำใส ตุ่มน้ำหนอง และจากนั้นจะแห้งออกหรือแตกออกแล้วหลุด เรียงไปตามลำดับ
- โดยตุ่มมักจะหนาแน่นที่บริเวณใบหน้า และแขนขา มากกว่าที่ร่างกาย
- ในระยะออกผื่น ผื่นจะกลายเป็นสะเก็ดคลุม แห้งและหลุดออกมา โดยใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์
- โดยทั่วไปแล้ว อาการป่วยจะกินเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ ส่วนใหญ่สามารถหายจากโรคเองได้ แต่ในกรณีผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ มีโรคประจำตัว อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม หรือเสียชีวิตได้
ติดต่อจากคนสู่คนได้ไหม?
โรคฝีดาษลิงสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้จากการสัมผัสใกล้ชิด โดยผ่านการสัมผัสทางผิวหนังกับผู้ติดเชื้อโดยตรง หรือสัมผัสวัตถุที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสชนิดนี้
แม้ว่าโรคฝีดาษลิงจะมีโอกาสติดจากคนสู่คนได้น้อย แต่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อนี้สามารถเสียชีวิตได้ โดยมีอัตราการเสียชีวิต 1-10% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กเล็ก
วิธีการป้องกันโรคฝีดาษลิง
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่วย สัตว์ที่เป็นพาหะโดยเฉพาะลิง และสัตว์ฟันแทะ
- หมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ โดยเฉพาะหลังสัมผัสสัตว์ หรือสิ่งของสาธารณะ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง บาดแผล เลือด น้ำเหลืองของสัตว์
- ใส่หน้ากากอนามัย เมื่อต้องเดินทางไปยังสถานที่เสี่ยงมีการแพร่ระบาด
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง แผล ตุ่มหนอง หรือตุ่มน้ำใส จากผู้มีประวัติเสี่ยง หรือสงสัยว่าติดเชื้อ กรณีที่สัมผัสเชื้อไปแล้ว ควรฉีดวัคซีนป้องกันในกรณีที่ยังไม่เกิน 14 วัน
(วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ แต่จะต้องฉีดในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงติดเชื้อเท่านั้น และยังสามารถรับวัคซีนได้ภายหลังจากการได้รับเชื้อไม่เกิน 14 วัน)
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลศิครินทร์
สืบค้นข้อมูลเมื่อ วันที่ 6 มิถุนายน 2565