จีเอ็มโอ

GMO

GMO หรือสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ความก้าวหน้าของพันธุวิศกรรมที่สร้างความกังวลในด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากมาย แต่จริง ๆ แล้ว GMO ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งผู้บริโภคควรรู้เพื่อชั่งใจในการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้

GMOs (Genetically Modified Organisms) คือ สิ่งมีชีวิตที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรม เป็นหนึ่งในพันธุวิศวกรรมสมัยใหม่ โดยสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ ได้แก่ พืช สัตว์ หรือแม้แต่จุลินทรีย์ ซึ่งในกระบวนการทดลองนั้น นักวิจัยจะคัดเลือกยีนที่ดีของสิ่งมีชีวิตมาผ่านกระบวนการทางพันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering) โดยตัดต่อใส่เข้าไปในยีนของสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งคุณสมบัติพิเศษของการตัดต่อทางพันธุกรรมนี้คือการนำยีนของสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถนำมาผสมพันธุ์กันได้ตามธรรมชาติมาตัดต่อเข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ที่มีคุณลักษณะหรือคุณสมบัติจำเพาะตรงตามความต้องการ ปัจจุบันกระบวนการตัดต่อพันธุกรรมของ GMOs มีจุดประสงค์หลัก ๆ 3 อย่างได้แก่

  • ป้องกันการถูกทำลายจากแมลง
  • ป้องกันการติดเชื้อไวรัส
  • ป้องกันการปนเปื้อนของสารฆ่าแมลงบางชนิด

ทั้งนี้เมื่อสิ่งมีชีวิตที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมเข้าสู่กระบวนการผลิตอาหาร ก็จะถูกเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า GMFs (Genetically modified foods)

ทำไมต้องผลิตด้วยกระบวนการ GMOs ?

กระบวนการ GMOs เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาและข้อด้อยของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร หรือการปศุสัตว์ รวมทั้งเสริมจุดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมนั้น มีต้นทุนที่ต่ำกว่า และมีคุณประโยชน์มากกว่า โดยเฉพาะพืช GMOs จะมีความต้านทานต่อโรคระบาด และศัตรูพืชสูง นอกจากนี้ ยังให้ปริมาณผลผลิตมากกว่าพืชที่ปลูกโดยวิธีธรรมชาติ จึงเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมอาหาร และเพราะเหตุนี้เองจึงทำให้ GMOs ยังคงมีการใช้อย่างแพร่หลายแม้จะยังไม่มีผลวิจัยยืนยันว่าจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมหรือไม่

เหตุใด GMOs จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวล ?

แม้สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมจะส่งผลดีต่อระบบอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรกรรม แต่ยังมีหน่วยงานทางสุขภาพทั่วโลก และผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยที่กังวลว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจส่งผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้

ทางด้านสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ GMOs ได้สร้างความกังวลว่าอาจทำให้เกิดผลดังต่อไปนี้

  • การถ่ายทอดทางพันธุกรรม ในการตัดต่อทางพันธุกรรม นักวิทยาศาสตร์ได้มีการนำยีนที่ช่วยให้สายพันธุ์ของพืชและสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ มีคุณภาพดีขึ้น แต่ก็มีความกังวลว่ายีนเหล่านั้นอาจส่งผลให้เซลล์ในร่างกายมีพันธุกรรมที่ผิดปกติ เช่น การดื้อยาปฏิชีวนะ หรือทำให้เด็กที่เกิดมามีความผิดปกติทางพันธุกรรมได้
  • การผสมพันธุ์แบบข้ามสายพันธุ์ เนื่องจากในปัจจุบันเมล็ดพันธุ์ที่เกิดจากการตัดต่อพันธุกรรมถูกใช้มากขึ้น จึงทำให้เสี่ยงต่อการผสมข้ามสายพันธุ์ และเมื่อพืชเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้

ทางด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อพืชและสิ่งมีชีวิตที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมถูกนำไปใช้ในวงการเกษตรกรรม และปศุสัตว์มากขึ้น อาจส่งผลต่อความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อม เช่น พืชและสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ อาจเกิดการกลายพันธุ์ และทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไปอย่างควบคุมไม่ได้ หรือในแง่ร้ายที่สุด พืชและสิ่งมีชีวิต GMOs นั้นอาจทำให้เกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบางชนิดได้เลยทีเดียว

ประโยชน์ของ GMOs

GMOs คือ พันธุวิศวกรรมที่มีประโยชน์ต่อมนุษยชาติ โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมเกษตร ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหาร ซึ่งในปัจจุบันถือเป็นวิกฤตใหญ่ของโลก อีกทั้งยังช่วยปรับแต่งพันธุกรรมของพืชเศรษฐกิจ ให้มีลักษณะทางพันธุกรรมที่ดีขึ้นในด้านต่าง ๆ เช่น

  • ทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี และป้องกันตนเองจากการจู่โจมของศัตรูพืชได้
  • พืชหรือผลผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ต้องพึ่งพาสารเคมีในการเพาะปลูก
  • ต้านทานต่อสารเคมีที่ใช้ในการกำจัดศัตรูพืช
  • ทนทานต่อสภาพอากาศมากขึ้น
  • เพิ่มปริมาณผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้  และช่วยให้ผลผลิตมีขนาดใหญ่มากขึ้น
  • สามารถเก็บรักษาได้นานขึ้น ช่วยแก้ปัญหาในการขนส่งได้

นอกจากนี้ GMOs ยังช่วยลดต้นทุนในการผลิตเป็นจำนวนมาก และช่วยปรับปรุงสายพันธุ์และสร้างจุดเด่นให้กับผลผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์ได้ เช่น ทำให้พืชมีสีที่สดขึ้น มีกลิ่นและรสชาติที่เปลี่ยนไป หรือทำให้ได้ผลผลิตที่แปลกใหม่ เช่น พืชไม่มีเมล็ด ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจทางด้านการเกษตรได้ ไม่เพียงเท่านั้น การตัดต่อทางพันธุ์กรรมของพืชและสัตว์ที่นำมาแปรรูปเป็นอาหารช่วยเพิ่มคุณประโยชน์ของอาหาร ได้แก่ เพิ่มโปรตีน แคลเซียม โฟเลต หรือแม้แต่เพิ่มเติมสารอาหารที่ไม่มีในอาหารชนิดนั้น ๆ ได้

อันตรายจาก GMOs

การตัดต่อพันธุกรรม หรือ GMOs เป็นเหมือนดาบสองคม เพราะถึงแม้จะช่วยให้สายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตมีคุณภาพที่ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่มีผลการวิจัยใดยืนยันได้ว่าพันธุวิศวกรรมนี้ปลอดภัย 100% โดยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากสิ่งมีชีวิตที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมได้แก่

  • เกิดอาการแพ้ แม้อาหารที่ผลิตจากสิ่งมีชีวิตที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมจะช่วยลดความเสี่ยงการเป็นภูมิแพ้ในอาหารได้ แต่ก็ไม่กำจัดความเสี่ยงที่จะการแพ้อาหารได้
  • เกิดการปนเปื้อนสารอันตราย กระบวนการ GMOs ช่วยกำจัดข้อด้อยในพันธุกรรมของพืชและสัตว์ได้ แต่ในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ไม่อาจทำให้สิ่งมีชีวิตที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมปลอดสารพิษได้ 100% เพราะอาจเกิดความบกพร่องเรื่องการควบคุมคุณภาพในระหว่างกระบวนการดัดแปลงพันธุกรรม  จึงทำให้มีการตกค้างของสารที่อันตรายต่อสุขภาพได้
  • เกิดภาวะดื้อยา สิ่งมีชีวิตที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมโดยส่วนใหญ่จะมีการนำยีนที่มีคุณสมบัติทนทานต่อการติดเชื้อแบคทีเรียใส่เข้ามาด้วย ทำให้ผลผลิตที่ได้ปลอดจากการติดเชื้อ ทว่ายีนเหล่านั้นจะส่งผลให้เกิดภาวะดื้อยาได้ หากยีนเหล่านี้เล็ดลอดไปผสมกับเชื้อโรคที่อยู่ในร่างกายผู้ที่บริโภคผลิตภัณฑ์ GMOs ก็อาจทำให้เชื้อเหล่านั้นดื้อยา และทำให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะไม่ได้ผล ซึ่งถือเป็นภาวะที่อันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภคเป็นอย่างยิ่ง
  • ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง พืชที่ผ่านการตัดต่อทางพันธุกรรมนั้นทนทานต่อสารเคมีของยาฆ่าแมลงซึ่งช่วยให้ผลผลิตมีคุณภาพที่ดีขึ้น แต่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการตกค้างของสารเคมี ซึ่งอาจนำมาสู่การเกิดโรคมะเร็งในผู้ที่บริโภคผลิตภัณฑ์ GMOs ในอนาคตได้ แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่ได้รับการยืนยันที่แน่ชัด และยังคงอยู่ในระหว่างการศึกษาเพื่อหาคำตอบที่แน่ชัด
  • โภชนาการเกิน ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการตัดต่อทางพันธุกรรมอาจทำให้ผู้บริโภคได้รับสารอาหารมากกว่าอาหารที่ได้จากธรรมชาติทั่วไป และอาจมากเกินไปจนก่อให้เกิดโทษต่อร่างกาย โดยเฉพาะเด็กทารกที่อาจเป็นอันตรายได้

GMOs ปลอดภัยหรือไม่ ?

ปัจจุบันทั่วโลกยังคงถกเถียงกันถึงเรื่องความปลอดภัยของ GMOs จึงทำให้มีการพิจารณาถึงความปลอดภัยของผลผลิต GMOs กันเป็นกรณี ๆ ไป ซึ่งทุกวันนี้มีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการตัดต่อทางพันธุกรรมบางชนิดวางขายในบางประเทศได้ แต่ก็ยังไม่มีการรับรองว่าอาหารทุกชนิดที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมนั้นจะปลอดภัย 100% และยังคงต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไปจนกว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

ผลิตภัณฑ์ GMOs สามารถสังเกตได้อย่างไร 

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ GMOs ถูกวางขายไปแล้วทั่วโลก โดยในประเทศไทยพบว่า เริ่มมีการปนเปื้อนของผลิตภัณฑ์ GMOs มากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยได้นำเข้าวัตถุดิบจากประเทศที่เป็นแหล่งต้นตอของ GMOs มาใช้ในการผลิตมากขึ้น จึงทำให้อาจมีการปนเปื้อนมาบ้าง และอาจยากที่จะสังเกตได้ว่าผลิตภัณฑ์ชนิดใดบ้างที่มีส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ GMOs

ทั้งนี้ในปัจจุบัน มีอาหารบางชนิดที่มีการติดฉลากผลิตภัณฑ์ GMOs ทำให้ผู้ซื้อสินค้าที่มีวัตถุดิบซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสามารถเลือกซื้ออาหารด้วยความมั่นใจและมีข้อมูลมากขึ้น

แม้ในปัจจุบันยังไม่มีผลยืนยันอย่างแน่ชัดว่า GMOs มีประโยชน์หรือโทษมากกว่ากัน ซึ่งยังต้องศึกษากันต่อไป แต่ก็ไม่ควรนึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว และควรระมัดระวังในการเลือกซื้อ หรือบริโภคอาหารให้มากขึ้น เพื่อป้องกันผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีการปนเปื้อน ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพได้ในภายหลัง

 

 

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ติชม


ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

สร้างโดย :


krupla

สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
ไม่ระบุ