พัฒนาหลักสูตร 'เกมเมอร์' สู่ 'White Hat Hacker'

แกะกล่องหลักสูตรใหม่ พัฒนา ‘เกมเมอร์’ สู่ ‘White Hat Hacker’ อาชีพใหม่ที่ทุกองค์กรต้องการ งานดี เงินงาม

By  Praornpit Katchwattana

November 7, 2020

ยุคนี้ แค่มีทักษะของการเป็นเกมเมอร์ ตอบรับกับกระแส E-sport หรือ มีทักษะด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ดูจะไม่เพียงพอต่อไปแล้ว เมื่อเทรนด์ความต้องการบุคลากรระดับโลกล่าสุด ระบุชัดเจนว่าภัยคุกคามทางไซเบอร์รูปแบบต่างๆทั่วโลก ในปี 2020 นี้ พุ่งสูงขึ้นไปแตะยอด 1,744 ครั้ง ด้วยเวลาเพียงแค่ 8 เดือนที่ผ่านมา และมีแนวโน้มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทั่วโลกต้องการบุคลากรที่มีทักษะต่อยอดจากการเป็น เกมเมอร์ มาเป็น ‘White Hat Hacker’ ที่ในวงการเรียกขานว่า แฮกเกอร์หมวกขาว หรือ แฮกเกอร์สายคุณธรรม จำนวนมาก

White Hat Hacker’ จึงกลายเป็นวิชาชีพที่มาแรง เป็นที่ต้องการขององค์กรต่างๆทั่วโลก โดยผู้ที่จะมารับผิดชอบงานด้านนี้ ต้องมีความเชี่ยวชาญเรื่องเจาะระบบ เพื่อหาจุดอ่อนและวางระบบป้องกัน คอยทำงานให้บริษัท หรือหน่วยงาน เพื่อรับมือกับ Black Hat Hacker หรือ แฮกเกอร์หมวกดำ จอมวายร้ายที่พร้อมจะใช้วิชามารเจาะระบบดาต้าอย่างผิดกฏหมาย สร้างความเสียหายและความปั่นป่วน เพียงเพื่อความสนุก สะใจ หรือเพื่อเงิน นั่นเอง

มาในบริบทประเทศไทย แน่นอนว่าปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ก็เป็นภัยมืดที่คุกคามคนทุกเพศทุกวัยอย่างหนักหน่วงไม่น้อยกว่านานาประเทศทั่วโลกเลย ด้วยเหตุนี้ การสร้างบุคลากรที่จะมาเป็น ‘White Hat Hacker’ ชาวไทย ก็มีความจำเป็นเร่งด่วนไม่แพ้อาชีพยุคดิจิทัลที่มาแรงอาชีพอื่นเลย
นี่จึงเป็นที่มาของความร่วมมือครั้งสำคัญ ของ 3 ภาคส่วน ภาคเอกชน หน่วยงานของรัฐ และสถาบันการศึกษา ได้แก่ บริษัท อินโฟเฟด จำกัด ผู้นำด้านการให้บริการ Virtual Live Streaming และผู้ก่อตั้งสนามกีฬา “Thailand E-Sports Arena” สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า และ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เปิดหลักสูตรใหม่เพื่อ “พัฒนาทักษะด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์สำหรับเกมเมอร์” ขึ้น โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

อัปเดตสถิติ ภัยคุกคามทางไซเบอร์ของไทย’ แล้วจะรู้ว่าทำไมต้องมี ‘White Hat Hacker’

จิรยศ เทพพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท อินโฟเฟด จำกัด เกริ่นถึงที่มาของความร่วมมือสร้างสรรค์หลักสูตร ผลิต ‘White Hat Hacker’ ซึ่งเป็นที่ต้องการของทุกองค์กรในตอนนี้ว่า

“ข้อมูลทางสถิติจากไทยเซิร์ตปี 2562 ชี้ชัดว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก ประเทศที่แจ้งเหตุภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยขยับขึ้นจากอันดับที่ 6 ในปีก่อน ส่วนในบริบทของโลก ภัยคุกคามทางไซเบอร์ทั่วโลกรูปแบบต่างๆในปี 2563 พบว่าเกิดขึ้นถึง 1,744 ครั้ง ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะวิถีชีวิตคนยุคนี้ที่อยู่ในโลกดิจิทัลมากขึ้น ส่งผลให้ทั่วโลกต้องการบุคลากรด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้กว่า 4 ล้านตำแหน่ง”

จิรยศ เทพพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท อินโฟเฟด จำกัด

นอกจากนั้น ยังมีอีกสถิติหนึ่งที่น่าสนใจ คือ โดยในประเทศไทย ค่าตอบแทนบุคลากรสาย Cybersecurity ที่สำรวจโดยTruePlookpanya ระบุชัดเจนว่าบุคลากรสาย Cybersecurity ที่ไม่มีประสบการณ์เริ่มต้นตั้งแต่ 16,000 – 22,000 บาท ต่อเดือน และจะมีการเลื่อนขั้นตามประสบการณ์และความสามารถ”
“แต่หากเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ของไทย ค่าตอบแทนขั้นต่ำต่อเดือนจะเริ่มต้นที่ 70,000 บาท ถ้ามีประสบการณ์ทำงานมากขึ้น จะมีโอกาสได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นถึง 200,000 – 300,000 แสนบาทต่อเดือน”
“ด้วยความจำเป็นที่กล่าวมา ทำให้เราอยากเป็นส่วนหนึ่งของการปั้นขุนพลไซเบอร์ซีเคียวริตี้มาตรฐานโลก สร้างความมั่นคงทางไซเบอร์ให้กับประเทศ โดยเปิดหลักสูตรพัฒนาทักษะด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์สำหรับเกมเมอร์ ร่วมกับทาง ดีป้า และ มหาวิทยาลัยศรีปทุม”

“ทั้งนี้ หลักการสำคัญซึ่งเป็นที่มาของการเปิดหลักสูตรนี้ คือ การพัฒนา ‘เกมเมอร์’ ด้วยการเพิ่มทักษะไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ยกระดับ ให้สามารถทำหน้าที่เป็น แฮกเกอร์หมวกขาว ดูแลสอดส่องให้ชาวไทยปลอดภัยจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ นั่นเอง” “หลักสูตรนี้ เปิดกว้างสำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่สนใจศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์หรือเกมการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ต เพื่อการพัฒนาทักษะทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมทั้งความสามารถในการประยุกต์และปรับใช้ได้ในอนาคต ตลอดจนต่อยอดสู่การเป็น White Hackers ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในสาขาอาชีพทางไซเบอร์ ซึ่งปัจจุบันตลาดแรงงานมีความต้องการบุคลากรกลุ่มนี้เป็นอย่างมาก”

Let’s review! หลักสูตรพัฒนาทักษะความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์สำหรับเกมเมอร์ น่าเรียนแค่ไหน

ด้าน ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า การจัดหลักสูตรนี้ แบ่งออกเป็น 2 โครงการ คือ
  1. โครงการการพัฒนาทักษะด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์สำหรับเกมเมอร์ ขั้นพื้นฐาน (Cyber Security – Fundamental)
  2. โครงการการพัฒนาทักษะด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เพื่อพัฒนาเกมเมอร์เป็น White Hackers (Transform Gamers to White Hackers)

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า

“ทั้งสองโครงการนี้ อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการพัฒนาศักยภาพกำลังคนและบุคลากรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (depa Digital Manpower Fund) โดยตั้งเป้าภายในปี 2564 พัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล 5 แสนคน”
“จะเห็นได้ว่าในยุคนี้เรามีวิถีการดำเนินชีวิตที่เข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ทว่า ในความทันสมัย และความสะดวกสบายที่ได้รับนี้เอง ก็เป็นช่องทางให้ภัยคุกคามทางไซเบอร์คุกคามผู้คนได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชายที่จะมาต่อกรกับภัยไซเบอร์นี้จึงเป็นภารกิจจำเป็นเร่งด่วน เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างมีความมั่นคงและปลอดภัย”
“โดยที่ผ่านมา ดีป้า มุ่งส่งเสริมและสนับสนุน ผลิตบุคลากรด้านดิจิทัล เพื่อป้อนสู่ตลาดแรงงานดิจิทัลที่กำลังขาดแคลนอย่างหนัก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำหากต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคดิจิทัลให้ก้าวไกลกว่านี้” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

ผศ.ดร.อนุพงศ์ อวิรุทธา ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการสร้างสรรค์และบ่มเพาะธุรกิจ และ หัวหน้าสาขาวิชาการจัดการธุรกิจดิจิทัล คณะบริหารธรุกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

สำหรับ ตัวแทนในภาคการศึกษา กำลังสำคัญของการเปิดหลักสูตรนี้ ผศ.ดร.อนุพงศ์ อวิรุทธา ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการสร้างสรรค์และบ่มเพาะธุรกิจ และ หัวหน้าสาขาวิชาการจัดการธุรกิจดิจิทัล คณะบริหารธรุกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้ให้มุมมองในฐานะสถาบันการศึกษา เพิ่มเติมว่า

“ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์ เป็นสาเหตุและปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต หรือความมั่นคงในภาพรวมของประเทศ ตลอดจนนโยบายของรัฐบาลที่กำลังขับเคลื่อนสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล”

“สำหรับในประเทศไทย ต้องยอมรับว่าการผลิตบุคลากรจากภาคการศึกษาที่มีทักษะทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด หลักสูตรพัฒนาทักษะด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์สำหรับเกมเมอร์ นี้จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการพัฒนาและผลิตกำลังคนดิจิทัล และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้กับประเทศ”
“โดยมุ่งผลิตบุคลากรในการผสมผสานความรู้ ทักษะ และความสามารถในด้านเกมเมอร์และความปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อเสริมศักยภาพและความเข้มแข็งในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ในการสร้างระบบความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ต่อไป”

ทั้งนี้ ผศ.ดร.อนุพงศ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลักสูตรพัฒนาทักษะด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์สำหรับเกมเมอร์ เปิดรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา อายุ 15 ปีขึ้นไป ที่สนใจในความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์หรือเกมการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ต โดยเปิดสอน 2 คอร์ส คือ
  1. Fundamental (ขั้นพื้นฐาน) เปิดรับทั้งหมด 2 รุ่น รับผู้เรียนรุ่นละ 500 คน เรียน Online 1 วัน Offline 1 วัน วันเริ่มการเรียนการสอนรุ่นที่ 1 ในวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2563 และเริ่มการเรียนการสอนรุ่นที่ 2 ในวันที่ 16 และ 18 พฤศจิกายน 2563
  2. White Hacker (ขั้นสูง) เปิดรับทั้งหมด 2 รุ่น รุ่นละ 50 คน จำนวนทั้งหมด 100 คน เรียน Online 1 วัน Offline 1 วัน เริ่มการเรียนการสอนรุ่นที่ 1 ในวันที่ 12 -13 มกราคม 2564 และ เริ่มการเรียนการสอนรุ่นที่ 2 ในวันที่ 12 และ 14 มกราคม 2564

ทั้ง 2 คอร์ส นี้ เมื่อเรียนจบจะได้รับประกาศนียบัตร โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2563 – 7 พฤศจิกายน 2563 สำหรับใครที่อยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถคลิกเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มได้ที่เว็บไซต์โครงการ https://earena.com/tournament/187/overview

 

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ติชม


ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

สร้างโดย :


Mechatronics

สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
เมคคาทรอนิกส์